ท่านแช็คดาวูด อัลฟาตอนี มีนามเต็มว่า อัล อาลิม อัลลามะฮฺ อัล อารีฟ อัลร็อบบานีย์ แช็ควันดาวูด บิน แช็ควันอับดุลเลาะฮ์ บิน แช็ควันอิดรีส อัลฟาตอนี
บิดาของท่านมีนามว่า แช็ควันอับดุลเลาะฮ์ บุตรของท่านแช็ควันอิดรีส บุตรของ โต๊ะวันบากัร บุตรของโต๊ะกายาเปนเดก บุตรของท่านฟากิหฺ อาลี ดาโต๊ะ มหาราจาเรลา
มารดาของท่านมีนามว่า วันฟาติมะห์ เป็นบุตรีของนางวัน ซาลามะห์ บุตรของโต๊ะบันดา วันชู บุตรของโต๊ะกายา รัคนา ดีราจา บุตรของท่านฟากิหฺ อาลี ดาโต๊ะมหาราจาเรลา
กล่าวได้ว่าต้นสายของท่านฝ่ายบิดาและมารดา ล้วนมาจากตระกูลของท่านฟากิหฺ อาลี ดาโต๊ะ มหาราจาเรลา ซึ่งเป็นอุลามาอ์ที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของโลกมลายู
ขุนเจริญวรเวช (เจริญ สืบแสง) ผู้แทนฯ ของชาวปัตตานี
เดิมชื่อ เจริญ สืบแสง เป็นบุตรขุนวรเวชวิชกิจ แพทย์ประจำมณฑลปัตตานี สำเร็จการศึกษาทางด้านแพทยศาสตร์เช่นเดียวกับบิดาและพี่ชาย ได้รับบรรดาศักดิ์เป็น ขุนเจริญวรเวช เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๗ เป็นอดีตนายกเทศมนตรีเมืองปัตตานี และเป็นผู้แทนราษฎรจังหวัดปัตตานีหลายสมัย ชาวปัตตานีได้ตั้งชื่อถนนทางเข้ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ว่า "ถนนเจริญประดิษฐ์" เพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงคุณงามความดีที่ ขุนเจริญวรเวช มีต่อจังหวัดปัตตานี
พระราชพุทธิรังษี (หลวงพ่อดำ) วัดมุจลินทวาปีวิหาร (วัดตุยง)
มีนามเดิมว่า ดำ จันทรักษ์ พุทธศาสนิกชนที่เลื่อมใสศรัทธาส่วนมากเรียกท่านว่า หลวงพ่อดำ ท่านเป็นพระที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัย และมีวาจาศักดิ์สิทธิ์ ท่านได้มรณภาพเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๗ สิริรวมอายุได้ ๙๐ ปี ทางวัดมุจลินทวาปีวิหาร (วัดตุยง) ได้สร้างศาลาประดิษฐานรูปปั้นหลวงพ่อดำเพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้เคารพสักการะ
พระธรรมโมลี (พระเทพญาณโมลี) วัดตานีนรสโมสร
อดีตเจ้าอาวาสวัดตานีนรสโมสร พระอารามหลวงจังหวัดปัตตานี ท่านได้จัดตั้งโรงเรียนสอนภาษาไทยเป็นแห่งแรกในจังหวัดปัตตานี และเปิดโอกาสให้เด็กไทยมุสลิมได้เรียนหนังสือไทยด้วย และได้จัดตั้งโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ เป็นพระเถระที่ไม่เก็บสะสมวัตถุปัจจัย เมื่อมีผู้มาถวาย ท่านก็จะมอบต่อให้ส่วนราชการ หรือองค์กรการกุศลต่างๆ เป็นสาธารณะประโยชน์ พระธรรมโมลี มรณภาพเมื่อ วันที่ ๒๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๐ สิริรวมอายุได้ ๑๐๐ ปี ๖ เดือน ๒๒ วัน
พนมเทียน (ฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ) ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๐
พนมเทียน เป็นนามปากกาของ ฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ เกิดเมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๕ ที่จังหวัดปัตตานี แต่ไปเติบโตและเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ และได้สร้างชื่อเสียงให้แก่จังหวัดปัตตานีในฐานะผู้สร้างผลงานสาขาวรรณศิลป์ จนได้เป็นศิลปินแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ผลงานการประพันธ์ของท่านทั้ง ๓๘ เรื่องล้วนประสบความสำเร็จเป็นที่ชื่นชอบของผู้อ่าน และได้มีการนำมาสร้างเป็นละครและภาพยนตร์มากมาย อาทิ เพชรพระอุมา ที่ใช้เวลาเขียนนานที่สุดเกือบ ๒๖ ปี, ศิวาราตรี, จุฬาตรีคูณ, ละอองดาว, สกาวเดือน, แววมยุรา, รัตติกาลยอดรัก เป็นต้น
นายขาเดร์ (นายแวกาเดร์) แวเด็ง ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๖
ศิลปินแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๓๖ สาขาศิลปะการแสดงดนตรีพื้นบ้าน นายขาเดร์เป็นเจ้าของวงดนตรี "เด็นดงอัสลี" ที่บรรเลงเพลงรองเง็งได้ไพเราะจับใจ และได้รับเกียรติสูงสุดของชีวิตได้บรรเลงดนตรีรองเง็งถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์มาแล้ว
หลวงพิธานอำนวยกิจ ผู้ก่อตั้งบริษัท พิธานพาณิชย์ จำกัด
เดิมชื่อ ฮกซุ่น แซ่จัน เป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จและได้ช่วยเหลือการสาธารณกุศลต่างๆ มาโดยตลอดจนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์จาก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ให้เป็น หลวงพิธานอำนวยกิจ เป็นเจ้าของกิจการบริษัท พิธานพาณิชย์ จำกัด และเป็นต้นสกุล จันทรัศมี (หลวงพิธานอำนวยกิจ มีลูกพี่ลูกน้องที่ชักชวนมาจากเมืองจีนให้มาช่วยทำธุรกิจร่วมกันจนประสบความสำเร็จ ชื่อ นายฮักเลี่ยม แซ่โหง่ว ต่อมาเปลี่ยนเป็น โกวิทยา)
พันเอก ขุนอิงคยุทธบริหาร (ค่ายอิงคยุทธบริหาร)
พันเอกขุนอิงคยุทธบริหาร เดิมชื่อ ทองสุก อิงคกุล เป็นผู้ซึ่งได้คุมกำลังทหารเพื่อต่อสู้กับทหารญี่ปุ่นที่ยกพลบุกเมืองปัตตานี เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 แม้จะถูกยิงได้รับบาดเจ็บสาหัส แต่ก็ยังคงตะโกนสั่งการให้ทหารสู้รบต่อไปจนตัวเองเสียชีวิต และปกป้องเมืองปัตตานีเอาไว้ได้ ในปี พ.ศ. 2511 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานนามใหม่แก่ค่ายทหารที่ตำบลบ่อทอง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ว่า "ค่ายอิงคยุทธบริหาร" เพื่อเป็นการรำลึกถึงวีรกรรมอันกล้าหาญของท่านในครั้งนั้น
พระพิพิธภักดี (ตนกูมุกดา อับดุลบุตร) ทายาทเจ้าเมืองยะหริ่ง
พระพิพิธภักดี เดิมมีนามว่า ตนกูมุกดา อับดุลบุตร เป็นบุตรคนโตของพระยาพิพิธเสนามาตย์ เป็นอดีตผู้แทนราษฎรจังหวัดปัตตานีหลายสมัย นับได้ว่าตระกูลอับดุลบุตรและตระกูลพิพิธภักดี ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากเจ้าเมืองยะหริ่ง ยังคงมีบทบาททางด้านการเมืองการปกครองของจังหวัดปัตตานีตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
นายอนันต์ วัฒนานิกร ผู้เชี่ยวชาญเรื่องประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมภาคใต้ตอนล่าง
นายอนันต์ วัฒนานิกร เป็นที่ยอมรับว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวไทยพุทธและชาวไทยมุสลิมภาคใต้ และเรื่องประวัติศาสตร์ของ ๔ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งด้านโบราณคดีและคติชนวิทยา ทำให้อนุชนรุ่นหลังได้มีโอกาสศึกษาค้นคว้าสืบไป
ขุนจารุวิเศษศึกษากร (เจ๊ะมุ) ผู้ให้กำเนิดท่าเต้นรองเง็งแบบของจังหวัดปัตตานี
นามเดิม เจ๊ะมุ เป็นหนึ่งในสามคนไทยมุสลิมชุดแรกที่เรียนหนังสือไทยที่วัดตานีนรสโมสร จังหวัดปัตตานี ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น ขุนจารุวิเศษศึกษากร เป็นผู้ให้กำเนิดท่าเต้นรองเง็งแบบของจังหวัดปัตตานี ซึ่งมีลีลาอ่อนช้อยงดงามกว่าของท้องถิ่นอื่นๆ ขุนจารุวิเศษศึกษากร เป็นต้นสกุลจารุประสิทธิ์
ขุนจรรยาวิธาน (ยูโซะ มะโรหบุตร) ผู้บุกเบิกการเรียนภาษาไทยให้กับเด็กไทยมุสลิม
เดิมชื่อ ยูโซะ มะโรหบุตร เป็นหนึ่งในสามคนไทยมุสลิมชุดแรกที่เรียนหนังสือไทยในโรงเรียนไทยพุทธ ที่วัดตานีนรสโมสร จังหวัดปัตตานี ขุนจรรยาวิธาน ดำรงตำแหน่งศึกษาธิการจังหวัดหลายจังหวัดในภาคใต้ตอนล่าง เป็นบุคคลสำคัญในวงการศึกษา เป็นแรงจูงใจให้เด็กไทยมุสลิมนิยมเรียนหนังสือไทยมากขึ้น มีผลงานทางวิชาการที่สำคัญ เช่น หนังสือคู่มือสนทนาภาษามลายู หนังสือแบบเรียนภาษามลายูเล่มแรก "ปลีตาบาจาอัน"
อำมาตย์โท พระยาพิบูลพิทยาพรรค บิดาแห่งการศึกษาของมณฑลปัตตานี
เดิมชื่อ ทอง คุปตาสา เป็นธรรมการมณฑลปัตตานี และได้รับการยกย่องว่าเป็น บิดาแห่งการศึกษาของชาวปัตตานี โดยท่านเป็นผู้ริเริ่มให้มีตำราเรียนเขียนไทยขึ้นเป็นครั้งแรกสำหรับใช้ในมณฑลปัตตานี อาทิ แบบเรียนเร็วไทย-มลายู, หนังสือเรื่องการตั้งโรงเรียนศีลธรรมในวัด, หนังสือเรื่องเล่าความเตือนเพื่อน, เป็นต้น
พระยาเดชานุชิตสยามมิศร์ภักดี สมุหเทศาภิบาลมณฑลปัตตานีคนแรก
เดิมชื่อ หนา บุนนาค ดำรงตำแหน่งเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลปัตตานี นานถึง 17 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2449 ถึง พ.ศ. 2466 ได้สร้างความเจริญให้แก่ปัตตานีมากมาย จนมีอนุสรณ์ให้ระลึกถึงท่านมากมาย อาทิ สะพานเดชานุชิต สนามกีฬาศักดิ์เสนี โรงเรียนเดชะปัตตนยานุกูล เป็นต้น
ข้อมูลส่วนหนึ่งจาก http://www.kananurak.com/4/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น